30 มิ.ย.60
#แจ้งเพื่อทราบและโปรดดำเนินการ…
————————————-
1.สพฐ. ได้ออกประกาศ เรื่อง “รูปแบบและแนวทางปฏิบัติในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2560” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ลงนามโดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีผลตามประกาศตั้งปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
————————————-
2.รายละเอียดของประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง “รูปแบบและแนวทางปฏิบัติในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)” ปีการศึกษา 2560
(ครุฑ)
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกลุ่มสาระการเรียนรู้ในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 5 กลุ่ม คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ ส่วนกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) กำหนดให้สถานศึกษาเป็นผู้ดำเนินการประเมินคุณภาพผู้เรียน โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในการดำเนินงานดังกล่าว ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดรูปแบบและแนวทางปฏิบัติในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ทั้งระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา ดังนี้
1. รูปแบบการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
1.1 การวัดและประเมินผลคุณภาพผู้เรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ สุขศึกษาและพลศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ สุขศึกษาและพลศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี โดยให้สถานศึกษาดำเนินการวัดและประเมินผลตามกรอบมาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในลักษณะของการวัดและประเมินในชั้นเรียน (Classroom Assessment) ตามปกติ เนื่องจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระแตกต่างกันตามบริบทและวัฒนธรรมประเพณีของสถานศึกษา ท้องถิ่นและภูมิภาค
1.2 การวัดและประเมินผลในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาดำเนินการเองดังกล่าว ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งการประเมินความรู้ (Knowledge Assessment) การประเมินทักษะกระบวนการ (Process-skill Assessment) และการประเมินคุณลักษณะ (Attribute Assessment) ตามพฤติกรรมที่ระบุไว้ในมาตรฐานและตัวชี้วัดของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและกระบวนการของนักเรียนเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการประเมินภาคปฏิบัติ (Performance Assessment) เป็นอันดับแรก
1.3 การวัดและประเมินในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาดำเนินการเองดังกล่าว ควรมีการกำหนดกรอบเนื้อหาสาระในการวัดประเมินผลให้สอดคล้องกับสภาพบริบท วัฒนธรรมและประเพณีของสถานศึกษา ท้องถิ่นและภูมิภาคแต่ละแห่ง และต้องสอดคล้องกับเนื้อหาสาระในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนอีกด้วย
1.4 การวัดและประเมินผลในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาดำเนินการเองดังกล่าว ควรเป็นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) โดยประเมินในบริบทเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของนักเรียนเป็นหลัก โดยใช้เครื่องมือวัดและประเมินผลที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำรูปแบบข้อสอบเขียนตอบ (Essay Test) มาเป็นส่วนหนึ่งในการวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา (Formative Assessment) และเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Summative Assessment) อย่างต่อเนื่อง
1.5 การวัดและประเมินผลในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมที่สถานศึกษาดำเนินการเอง ในส่วนของสาระการเรียนรู้หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ศาสนา ศีลธรรมจริยธรรม และประวัติศาสตร์ นอกจากจะใช้วิธีการวัดและประเมินผลด้านความรู้ความคิดด้วยการทดสอบแล้ว สถานศึกษาควรให้ความสำคัญกับการวัดและประเมินผลในด้านคุณลักษณะและพฤติกรรมของนักเรียนจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกสถานศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพบริบท ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่นของนักเรียน โดยให้สถานศึกษากำหนดเกณฑ์ในประเมินเพื่อตัดสินผลเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมในสาระการเรียนรู้ดังกล่าว และให้การรับรองผลการประเมินดังกล่าวด้วย
2. แนวทางปฏิบัติในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
2.1 ระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.1.1 ชี้แจงประชาสัมพันธ์ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางปฏิบัติในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
2.1.2 จัดส่งคู่มือและเอกสารประกอบการอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนในการสร้างเครื่องมือประเมินคุณภาพผู้เรียนในชั้นเรียน (Classroom Assessment) และเครื่องมือประเมินภาคปฏิบัติ (Performance Assessment) ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อใช้ในการพัฒนาครูผู้สอนในสังกัด
2.1.3 พัฒนาคลังข้อสอบออนไลน์ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตรทั้งในลักษณะของข้อสอบเลือกตอบ และข้อสอบเขียนตอบ สำหรับให้บริการแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา
2.1.4 ตรวจเยี่ยม กำกับและติดตามการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบ (O-NET) ของสถานศึกษาในสังกัด ให้มีความเป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
2.1.5 สรุปและรายงานผลการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและสาธารณชน
2.2 ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
2.2.1 ชี้แจงประชาสัมพันธ์สถานศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางปฏิบัติในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2560
2.2.2 ช่วยเหลือสนับสนุนให้สถานศึกษาวิเคราะห์และกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดที่ใช้เป็นกรอบในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ดังกล่าว ทั้งในด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ
2.2.3 ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนสามารถสร้างเครื่องมือคุณภาพผู้เรียนในชั้นเรียน (Classroom Assessment) และเครื่องมือประเมินภาคปฏิบัติ (Performance Assessment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติการ การชี้แจงให้ความรู้ การทำเอกสารสื่อนิเทศ ฯลฯ
2.2.4 พัฒนาคลังข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร ทั้งเครื่องประเมินภาคความรู้ ในลักษณะของข้อสอบเลือกตอบ และข้อสอบเขียนตอบ และเครื่องมือประเมินภาคปฏิบัติ สำหรับให้บริการแก่สถานศึกษาที่ไม่สามารถสร้างเครื่องมือเองได้
2.2.5 นิเทศ กำกับและติดตามการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระ
การเรียนรู้ที่ดังกล่าวของสถานศึกษาในสังกัด ให้มีความเป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
2.2.6 สรุปและรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ดังกล่าว ให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
2.3 ระดับสถานศึกษา
2.3.1 วิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดที่ใช้เป็นกรอบในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ไม่ได้ทำการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ทั้งในด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ
2.3.2 กำหนดกรอบหรือแผนงานในการประเมินความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะตลอดปีการศึกษา เช่น โครงงานหรือชิ้นงาน มาตรฐานและตัวชี้วัดที่ต้องการวัด ระยะเวลา วิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน เป็นต้น ซึ่งต้องคำนึงถึงสภาพบริบท วัฒนธรรมและประเพณีของสถานศึกษา ท้องถิ่นและภูมิภาค
2.3.3 สร้างเครื่องมือประเมินผลในชั้นเรียนที่สอดคล้องกับสภาพบริบทของสถานศึกษาและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ประกอบด้วย เครื่องมือประเมินภาคความรู้ เช่น แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตพฤติกรรม ฯลฯ เครื่องมือประเมินภาคปฏิบัติ เช่น แบบตรวจสอบกระบวนการทำงาน แบบประเมินผลงาน ฯลฯ และเครื่องมือประเมินคุณลักษณะ เช่น แบบสังเกตพฤติกรรม แบบวัดเจตคติหรือทัศนคติ ฯลฯ
2.3.4 ประเมินความรู้ ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะตามกำหนดการที่วางแผนอย่างเคร่งครัด
2.3.5 กำกับและติดตามการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังกล่าว ในแต่ละห้องเรียนให้มีความเป็นมาตรฐานและน่าเชื่อถือ
2.3.6 สรุปและรายงานผลการดำเนินงานและการประเมินคุณภาพการศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ดังกล่าวให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2560
ลงชื่อ นายการุณ สกุลประดิษฐ์
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
————————————-
#ดาวโหลดประกาศฯ ได้ที่ http://bet.obec.go.th
ที่มา : Wisanu Sapsombat ผอ.สทศ.สพฐ. ศธ. ที่ กระทรวงศึกษาธิการ