ข่าวการศึกษา

“สุเทพ” ย้ำชัด 2 เดือนเด็กอ่านออกเขียนได้สำเร็จ ไม่ฟันธงโละคูปองครูขอฟังเสียงเขตพื้นที่ฯ

วันนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

และได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ไว้ดังนี้

“สุเทพ” ย้ำชัด 2 เดือนเด็กอ่านออกเขียนได้สำเร็จ ไม่ฟันธงโละคูปองครูขอฟังเสียงเขตพื้นที่ฯ

“สุเทพ” ย้ำชัด 2 เดือนเด็กอ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์สำเร็จ ฝากเขตพื้นที่ฯช่วยดัน เล็งทบทวนคัดร.ร.ดีคุณภาพประจำตำบลใหม่ หลังมีเสียงท้วง ร.ร.ไม่สบายใจเหมือนถูกลดเกรด ไม่ฟันธงโละคูปองครู อ้างต้องฟังเสียงเขตพื้นที่

วันนี้ (29 พ.ค.) ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มอบนโยบาย “การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน” ในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตนเชิญผอ.สพท.ทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษา และการศึกษาพิเศษทั่วประเทศ มาพบปะเพื่อสะท้อนปัญหาสร้างความเข้าใจ ถือเป็นการประชุมเป็นปฐมฤกษ์ ซึ่งในช่วง 4 เดือนจากนี้ก่อนตนเกษียณอายุราชการ อาจจะดูเป็นเวลาไม่นานแต่ในแง่การทำงานก็ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวจึงต้องวางสเต็ปการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตนได้หารือร่วมกับ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) อดีตเลขาธิการ กพฐ. แล้วว่าจากนี้ไป สพฐ.และ สอศ.จะทำงานประสานเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพราะการศึกษาอาชีวะจะก้าวหน้าหรือไม่ขึ้นกับ สพฐ.เป็นสำคัญด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การทำงานจากนี้จะฟังเสียงของเขตพื้นที่ฯเป็นสำคัญ ตนไม่อยากจะสั่งท็อปดาวน์ลงมากเกินไป แต่อยากให้ สพท.เสนอขึ้นมาว่าอยากทำอะไร อยากให้สนับสนุนอะไร เพราะจากประสบการณ์ที่นานที่สุดของผมคืออยู่ในตำแหน่งบริหารเขตพื้นที่ฯ เกือบ 20ปี จึงรู้ว่าเขตพื้นที่ฯ เป็นคีย์แมนสำคัญที่สุดในการพัฒนาการศึกษา ควบคุมบริหารจัดการในพื้นที่

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ตนได้ตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลที่มอบให้ สพฐ.ไม่น้อยกว่า 50 เรื่องทั้งโครงการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ขณะที่ระยะเร่งด่วนมีโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ซึ่งตนได้รับข้อร้องเรียนว่ามีโรงเรียนประจำจังหวัด ประจำอำเภอบางแห่งมีมาตรฐาน คุณภาพระดับประเทศแต่ได้รับคัดเลือกให้ประกาศเป็น โรงเรียนดีประจำตำบล ทำให้โรงเรียนรู้สึกไม่สบายใจเหมือนถูกลดเกรดลงจึงอยากให้มีการทบทวนการดำเนินการใหม่ ตรงนี้ตนจะไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง สำหรับโครงการอื่นๆ เช่น โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 2 รุ่น จำนวนกว่า 100 โรง และโรงเรียนประชารัฐ ที่ดึงภาคเอกชนมาร่วมสนับสนุนจัดการศึกษา ตนจะสานต่อแต่จะทำในลักษณะป่าล้อมเมือง จะปรับกระบวนทัศน์ใหม่ทำงานเชิงรุกให้ สพท.ลงไปหาภาคเอกชนมาเข้าร่วมสนับสนุนการศึกษานำร่องเขตพื้นที่ละ 5 โรง เพราะการจัดการศึกษาจะมารองบประมาณจากรัฐอย่างเดียวคงไม่ได้ 

“เรื่องที่ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อน คือ การส่งเสริมให้เด็กอ่านออกเขียนได้ตามเกณฑ์ของแต่ละระดับการศึกษา ต้องเห็นผลรูปธรรมภายใน 2 เดือน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ผมเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก โดยในวันที่ 29 กรกฎาคมซึ่งตรงกับวันภาษาไทยแห่งชาติ สพฐ.จะจัดงานเพื่อสรุปบทเรียนและจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง ส่วนโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือ คูปองครู นั้นผมมองว่าโครงการนี้โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่บ้าง ซึ่งก็มีเสียงสะท้อนมามาก ส่วนจะยกเลิกหรือไม่นั้น ผมขอฟังความเห็นจากเขตพื้นที่ฯ ว่าที่ผ่านมาประสบปัญหาอะไรบ้าง หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรเพื่อเป็นแนวทางทำงานในอนาคต”ดร.สุเทพ กล่าว

ทั้งนี้ทั้งนั้นขอให้ฟังรายละเอียดจากการให้นโยบายกับ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาผ่านคลิปที่แปะไว้ให้อีกทีนึงครับ

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button