การพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

ชื่องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา
ชื่อผู้วิจัย นางรัตนา ดำทองเสน
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
ปีที่รายงาน 2562
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้โรงเรียนบ้านบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อตอบคำถามนั้นใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากหลายแหล่งข้อมูลและหลายวิธีการ เพื่อตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข้อมูล โดยเก็บรวบรวมทั้งในเชิงปริมาณ (Quantitative Data) และข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) ผลผลิตที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ คือ รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาความต้องการในการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
2. เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และ 3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีการดำเนินการวิจัย 3 ขั้นตอน คือ 1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาความต้องการในการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และ3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบบันทึกการประชุมสนทนากลุ่ม และแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการศึกษา คือ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการศึกษาพบว่า
- สภาพปัจจุบันและปัญหาความต้องการในการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านบาโงย อำเภอรามัน จังหวัดยะลา พบว่า มีปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมทั้งปัญหาสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน สภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียนและสภาพแวดล้อมทางวิชาการ ดังนี้
1.1 สภาพแวดล้อมในห้องเรียน พบว่า 1.ขาดสื่อและอุปกรณ์ในการสอนประจำห้องเรียน 2. ระบบเสียงในห้องเรียนบางห้องใช้งานไม่ได้ 3. โต๊ะเก้าอี้ชำรุดไม่พอต่อการจัดที่นั่งให้กับนักเรียน 4. ภายในห้องเรียนบางห้องไม่มีบอร์ดสำหรับจัดป้ายนิเทศความรู้ 5. มุมหนังสือในห้องเรียนขาดหนังสือที่น่าสนใจและบางห้องไม่มีมุมหนังสือให้ศึกษาค้นคว้า 6. พื้นในห้องเรียนบางห้องเป็นพื้นปูนการทำความสะอาดห้องเรียนมีฝุ่นปูนหลุดออกมาจำนวนมาก 7. สีผนังโดยรอบห้องเรียนเก่าดูสกปรก 8. แสงสว่างภายในห้องเรียนบางห้องไม่เพียงพอ 9.กระดานดำเขียนด้วยชอล์กมีปัญหาเรื่องฝุ่นชอล์กมีผลต่อสุขภาพของครูและนักเรียน
1.2 สภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน พบว่า 1.สีอาคารเรียนดูเก่าลอกหลุดไม่สวยงาม 2.ภูมิทัศน์บริเวณโรงเรียนบางจุดต้องปรับปรุงและจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ 3. ลานเกมสร้างสรรค์สีดูเก่าลอกหลุดไม่สวยงาม 4) สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นบางชิ้นเริ่มผุพัง สีดูเก่าลอกหลุดไม่สวยงาม 5. โรงอาหารที่นั่งไม่เพียงพอขาดการจัดระบบดูแลภาชนะใส่อาหาร 6. สวนเกษตรมีหญ้ารกและเป็นที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขัง 7. สวนสมุนไพรมีหญ้ารกและเป็นที่ลุ่ม มีน้ำท่วมขัง 8. ห้องสำนักงาน ไม่เป็นสัดส่วน 9. ไม่มีห้องประชุม และ10. ห้องน้ำ – ห้องส้วม ประตูเริ่มชำรุด ผู้ดูแลความสะอาดทำความสะอาดไม่สม่ำเสมอ แสงสว่างไม่เพียงพอ
1.3 สภาพแวดล้อมทางวิชาการ พบว่า 1.ห้องสื่อการเรียนการสอน ขาดอุปกรณ์ที่เอื้อต่อการใช้สื่อที่ทันสมัยและมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน 2. ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ มีคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนและสภาพเครื่องล้าสมัย 3.ห้องสมุดขาดสิ่งจูงใจให้นักเรียนเข้าใช้บริการ 4. ห้องพยาบาลไม่เป็นสัดส่วน แสงสว่างไม่เพียงพอและ 5.ห้องวิชาการ ไม่เป็นสัดส่วน ตู้จัดเก็บเอกสารวิชาการไม่เพียงพอ
- การพัฒนารูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านบาโงย พบว่า ได้กระบวนการการบริหารจัดการสภาพแวดล้อมโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน พบหลักการสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stake holder) ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจและร่วมดำเนินการ ทำให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของโรงเรียน มี 5 ขั้นตอนสำคัญ คือ 1) การสร้างความตระหนักให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้สภาพปัญหาและความจำเป็น ร่วมกันวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมกันดำเนินการ ตามรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 2) การระดมทรัพยากรเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 3)การดำเนินการตามแผน / โครงการ/ กิจกรรม 4) การกำกับ ติดตาม และ 5) การสรุปรายงานผล ผลที่ได้รับจากการใช้รูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พบว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ
- การศึกษาความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานเพื่อการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.84 ผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.86 ครูและบุคลากรทางการศึกษามีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.87 และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.80 และความพึงพอใจโดยภาพรวมของทั้งนักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐาน พบว่า อยู่ในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.84 เมื่อพิจารณาระดับความพึงพอใจเป็นรายด้าน ทุกด้านมีระดับความพึงพอใจมากที่สุดเช่นกัน เรียงลำดับตาม ค่าเฉลี่ยได้ดังนี้ การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน คะแนนเฉลี่ย 4.86 การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน คะแนนเฉลี่ย 4.83) และการจัดสภาพแวดล้อมทางวิชาการ คะแนนเฉลี่ย 4.83