เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

การประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ : กรณีศึกษาโรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย

ชื่อเรื่อง          การประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ : กรณีศึกษาโรงเรียนเทศบาล ๓
ยุวบูรณ์บำรุง  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย

สังกัด            โรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ผู้วิจัย            นางพัชรินทร์ ชัยจันทร์

ปีที่ทำการวิจัย  ๒๕๖๑

 บทคัดย่อ

              การประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ : กรณีศึกษาโรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อประเมินผลโครงการโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง ทั้ง ๘ ด้าน  ดังนี้  ด้านบริบท  ด้านปัจจัย  ด้านกระบวนการ  ด้านผลผลิต  ด้านผลกระทบ ด้านประสิทธิผล ด้านความยั่งยืน ด้านการถ่ายโยงความรู้ และ
๒) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วย  พระสงฆ์ ๓ รูป  ผู้บริหาร ๒ คน  ครูโรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง  ๒๕ คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ จำนวน ๑๙๙ คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ จำนวน ๑๘๒ คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน ๑๓๕ คน  บุคคลในชุมชน ๒๐ คน  รวมประชากรจำนวน ๕๖๖ คน  ใช้รูปแบบการประเมินโครงการของสตัฟเฟิลบีม (Daniel  L. Stufflebeam)  ที่มีชื่อว่า CIPP  Model  ต่อมาได้มีการขยายแนวคิดโดยการขยายผลผลิต (Product )  ออกเป็น IEST จึงเป็น CIPPIEST  Model  เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประกอบด้วยแบบประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ : กรณีศึกษาโรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง  อำเภอเมือง  จังหวัดหนองคาย  จำนวน ๓  ฉบับ  มีลักษณะแบบมาตรประมาณค่า (Rating scale) ๕ ระดับ  สถิติที่ใช้ใน  การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ (%)  ค่าเฉลี่ย (Mean ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD.) วิเคราะห์เนื้อหาและนำเสนอแบบพรรณนาความ

             สรุปผลการประเมิน

๑.ผลการประเมินการดำเนินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนเทศบาล ๓
ยุวบูรณ์บำรุง  มี 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่  ๑  ประเมินผลก่อนการดำเนินโครงการ

๑.๑ ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบประเมิน พบว่า เป็นเพศหญิงมีจำนวนมากที่สุด  อายุของผู้ตอบแบบประเมินที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่ระหว่าง ๔๑ – ๕๐ ปี  และลำดับสุดท้าย  อายุระหว่าง ๒๑ – ๓๐ ปี ระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบประเมินที่มีจำนวนมากที่สุด คือระดับมัธยมศึกษา รองลงมาคือ  ระดับประถมศึกษา  ลำดับสุดท้ายคือ  ระดับการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ในจำนวนนี้ พบว่า ผู้ตอบแบบประเมินที่มีจำนวนมากที่สุด คือ  ผู้ปกครองนักเรียน  รองลงมาคือครูผู้สอน  ลำดับสุดท้าย คือ  พระสงฆ์และผู้บริหาร

๑.๒ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านบริบท  พบว่าโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ  โครงการมีความสอดคล้องกับสภาพความต้องการ/ความสนใจของนักเรียน  ผู้ปกครอง/ชุมชน และโครงการเหมาะสมกับเวลาและสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน  รองลงมาคือความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายคุณธรรมนำความรู้ของรัฐบาล  และโครงการเหมาะสมสอดคล้องกับแนวปฏิบัติและหลักธรรมพุทธศาสนา  และข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด  คือโครงการมีความเหมาะสมกับบทบาทและหน้าที่ของโรงเรียน

๑.๓ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านปัจจัยนำเข้า  พบว่าโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า  ผู้บริหารและครูมีพรหมวิหารประจำใจ  มีความเป็นกัลยาณมิตรมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามตามหลักไตรสิกขา,ครูรู้เข้าใจหลักการพัฒนาผู้เรียนตามหลักไตรสิกขา,มีการนิเทศ กำกับ ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง,สภาพโรงเรียนสะอาด  เรียบร้อย  ปลอดภัย  สงบ  ร่มรื่น  ใกล้ชิดธรรมชาติอยู่ในระดับมากที่สุด  รองลงมา คือ  ผู้บริหารมีความซื่อสัตย์  จริงใจในการทำงาน,มีการร่วมมือกับผู้ปกครอง  วัด  และชุมชน เพื่อพัฒนาผู้เรียนและชุมชน,บริเวณโรงเรียนปราศจากสิ่งเสพติด  อบายมุข  สิ่งมอมเมาทุกชนิดและอยู่ในระดับ  น้อยที่สุด  คือครูสามารถจัดกิจกรรมได้สอดคล้องเหมาะสมหลักศาสนา,มีระบบตรวจสอบประเมินผลและเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนะอย่างเป็นกัลยาณมิตรอย่างต่อเนื่อง

   ระยะที่ ๒  การประเมินผลระหว่างการดำเนินโครงการ

๒.๑ ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบประเมิน พบว่า ผู้ตอบแบบประเมิน  ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีจำนวนมากที่สุด  อายุของผู้ตอบแบบประเมิน ที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่ระหว่าง ๑๐ – ๒๐ ปี  และน้อยที่สุดมีอายุระหว่าง ๒๑ – ๓๐ ปี ระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบประเมินที่มีจำนวนมากที่สุด คือ  ระดับประถมศึกษา  รองลงมาคือ  ระดับมัธยมศึกษา  น้อยที่สุดคือ สูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้มีจำนวนมากที่สุด คือ นักเรียน รองลงมาคือผู้ปกครองนักเรียน  และน้อยที่สุด  คือพระสงฆ์และผู้บริหาร

๒.๒ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านกระบวนการดำเนินงาน  พบว่าโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ  การจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการพุทธธรรมหลักไตรสิกขาในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้  กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและเชื่อมโยงกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร  อ่อนน้อมถ่อมตน  เคารพ  ให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ยิ้มแย้ม  มีเมตตาต่อกัน  ทั้งครูต่อนักเรียน  ครูต่อครู  นักเรียนต่อนักเรียน  นักเรียนต่อผู้ปกครอง  และครูต่อผู้ปกครอง/ชุมชน,ส่งเสริมบุคลากรและนักเรียนให้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้อื่น  รองลงมาคือ  จัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการใฝ่รู้และแสวงหาความรู้  และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยหลักธรรม เช่น อริยสัจ ๔  นำนักเรียนไปเรียนรู้ที่แหล่งเรียนรู้  เช่น วัด  หรือศาสนสถานเป็นประจำและต่อเนื่อง ส่งเสริมบรรยากาศ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ใฝ่สร้างสรรค์โดยยึดหลักคุณธรรมนำความรู้,ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเห็นคุณค่าในการรักษาและสืบต่อพุทธศาสนา  และน้อยที่สุดคือจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข  ทั้งผู้เรียนและผู้จัดการเรียนรู้,ฝึกฝนอบรมให้เกิดการ กิน  อยู่  ดู  ฟัง  เป็น (รู้เข้าใจเหตุผล  และได้ประโยชน์ตามคุณค่าแท้ตามหลักไตรสิกขา)

ระยะที่  ๓  การประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ

๓.๑ ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบประเมิน พบว่า ผู้ตอบแบบประเมิน  ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมีจำนวนมากที่สุด  อายุของผู้ตอบแบบประเมิน  ที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่ระหว่าง ๑๐ – ๒๐ ปี  และน้อยที่สุดมีอายุระหว่าง ๒๑ – ๓๐ ปี ระดับการศึกษาของผู้ตอบแบบประเมินที่มีจำนวนมากที่สุด คือ  ระดับประถมศึกษา  รองลงมาคือ  ระดับมัธยมศึกษา  น้อยที่สุดคือ สูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้มีจำนวนมากที่สุด คือ นักเรียน รองลงมาคือผู้ปกครองนักเรียน  และน้อยที่สุด  คือพระสงฆ์และผู้บริหาร

๓.๒ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านผลผลิต  โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ  นักเรียนปฏิบัติตนต่อพ่อแม่  ครู  ญาติผู้ใหญ่ด้วยความเคารพ  มีความกตัญญูรู้คุณ  ตอบแทนคุณ  (กตัญญูกตเวที)  รองลงมาคือ  นักเรียนตระหนักในบาป–บุญ  คุณ–โทษ  เข้าใจถึง ผลดีและผลเสียจากการปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามหลักธรรม  และอยู่ในระดับน้อยที่สุด  คือ นักเรียนแต่งกายสะอาด  เรียบร้อย  ถูกต้องตามกาลเทศะ,นักเรียนมีสุขภาพจิตที่ดี  แจ่มใส  ร่าเริง  เบิกบาน

๓.๓ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านผลกระทบ  โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ  โรงเรียน  วัด  และชุมชนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากขึ้น  รองลงมาคือ  วัดมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา  และอยู่ในระดับน้อยที่สุด คือ  มีการร่วมมือจัดกิจกรรมระหว่างวัด  ชุมชนและโรงเรียนมากขึ้น

๓.๔ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านประสิทธิผล  ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า นักเรียนมีการพัฒนาตนเองเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนๆและคนในครอบครัว  ระดับมากที่สุด  รองลงมาคือ  นักเรียนยึดหลักอิทธิบาท ๔ ในการปฏิบัติงานให้สำเร็จอย่างมีคุณภาพและอยู่ในระดับน้อยที่สุด คือ  นักเรียนมีพัฒนาการทางสติปัญญาและการคิดวิเคราะห์มากขึ้น

๓.๕ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านความยั่งยืน  ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าโครงการส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเห็นคุณค่าในการรักษาและสืบต่อพระพุทธศาสนา  อยู่ในระดับมากที่สุด  รองลงมาคือ  นักเรียนมีทักษะในการคิดอย่างมีเหตุผลด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เข้าใจและรู้คุณค่าแท้ของสรรพสิ่ง  (โยนิโสมนสิการ)  และอยู่ในระดับน้อยที่สุดคือ  นักเรียนมีพฤติกรรมมุ่งเป็นผู้ผลิตมากกว่าผู้บริโภค

๓.๖ ผลการประเมินโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ  ด้านการถ่ายโยงความรู้  ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ  นักเรียนปฏิบัติตนเป็นพุทธมามากะที่ดีและปฏิบัติตนตามศาสนพิธีได้ถูกต้อง  รองลงมาคือ  นักเรียนปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน ได้อย่างมีความสุขตามหลักสังคหวัตถุ ๔ (ทาน ปิยวาจา  อัตถจริยา  สมานัตตตา )  และอยู่ในระดับน้อยที่สุด  คือ  นักเรียนมีความรู้ เข้าใจหลักธรรมและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมาะสม

๒. ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธโรงเรียนเทศบาล ๓ ยุวบูรณ์บำรุง 

ผลการศึกษาโครงการโรงเรียนวิถีพุทธด้านความพึงพอใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาพรวมอยู่ในระดับมาก  เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ  นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์มากขึ้น  รองลงมาคือ  กิจกรรมสอดคล้องตรงตามความต้องการของชุมชน (บริบท),การส่งเสริมให้นักเรียนปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี (การถ่ายโยงความรู้)  และอยู่ในระดับน้อยที่สุด คือ  มีการติดตามดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง (กระบวนการ)  

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button