ข่าวการศึกษา

ความร่วมมืออุดมศึกษาไทยในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความร่วมมือของอุดมศึกษาไทยในการแก้ไขปัญหาของประเทศ” ในการประชุมวิชาการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประจำปี 2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม2558 ที่หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) โดยมี ศ.ดรประสาท สืบค้า ประธาน ทปอ., ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. และ ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ สจล. ให้การต้อนรับ

รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ว่า ในความเป็นจริงสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่มีความแข็งแกร่งในตัวมีอยู่จำนวนมาก แม้บางแห่งจะอ่อนแอลง แต่ก็ไม่ได้โทษมหาวิทยาลัย เพราะทิศทางรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ชัดเจน แต่ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วเกี่ยวกับกลุ่มอุตสาหกรรม 5 กลุ่มเดิมที่จะต้องต่อยอด และอีก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต ตลอดจน 13 อุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำหนดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาในฐานะผู้ผลิตมองภาพออก และมองได้ง่ายขึ้น เหลือเพียงแต่จำนวนที่ต้องการในช่วง 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปี ในการผลิตว่ามีความต้องการเท่าไร จึงขอให้ทุกสถาบันการศึกษาใช้ขีดความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยมองตัวเองให้ออกว่ามีความถนัดและเชี่ยวชาญด้านใด ก็ผลิตกำลังคนในด้านนั้นออกมา

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

นอกจากนี้ ได้ขอให้เครือข่ายเพื่อการพัฒนาอุดมศึกษา 9 เครือข่าย ก้าวออกจากรั้วของตัวเองเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นระบบให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศยังต้องปรับปรุงในอีกหลายส่วนของการศึกษา จึงขอให้สถาบันอุดมศึกษาขยับตัวตามนโยบายรัฐบาลให้ทัน โดยสามารถติดตามได้จากรายการเดินหน้าประเทศไทย และรายการคืนความสุขให้คนในชาติ เพื่อให้เห็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่อุดมศึกษาจะมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาที่ผ่านมาของสถาบันอุดมศึกษามีหลายด้าน เช่น สถาบันอุดมศึกษามีการผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการของประเทศ ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยขาดแคลนบางสาขาและล้นในบางสาขา รวมไปถึงปัญหางบประมาณในการพัฒนามหาวิทยาลัยที่มีจำกัด ปัญหาคุณภาพนักเรียนที่จะเข้าเรียนต่ออุดมศึกษา ปัญหาบัณฑิตที่จบออกมายังไม่มีคุณภาพ ตลอดจนปัญหาด้านภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการจัดการศึกษาเชิงพาณิชย์ การวิจัยไม่มีคุณภาพและไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งเห็นว่าควรนำงบฯ วิจัย ที่กระจายอยู่ตามกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน และจัดสรรให้มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนทำการวิจัย โดยแบ่งกลุ่มทำงานวิจัยอย่างเป็นระบบต่อไป

ในส่วนของปัญหาด้านทักษะภาษาอังกฤษของบัณฑิตไทยนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เตรียมร่างนโยบายให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคน ต้องทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารหรือภาษาต่างประเทศภาษาที่สองก่อนจบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาษามาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเพิ่มทักษะด้านการสื่อสารให้กับเด็กไทยที่กำลังจะออกไปทำงานจริง โดยจะนำผลการทดสอบใส่ไว้ในใบรับรองผลการศึกษาด้วย ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มใช้กับนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2559

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนครู ได้เร่งให้ สกอ.เสนอโครงการคุรุทายาท ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ว่า “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” เนื่องจากชื่อเดิมหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโครงการของลูกครู โดยโครงการใหม่นี้จะคัดเด็กเก่งเข้าโครงการ มีอัตราบรรจุในภูมิลำเนา และสามารถกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ 100% โดยจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับ รมว.การคลัง เพื่อให้ตั้งงบประมาณเพิ่มให้แก่ กยศ. ซึ่งรับรองได้ว่าเงินจะไม่สูญ เพราะเมื่อนักศึกษาตามโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจบแล้ว จะให้หักเงินคืน กยศ.ก่อน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ขาดแลนด้วยว่า ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงบประมาณปี2560 เพื่อจ้างครูเกษียณให้สอนในสาขาขาดแคลนในพื้นที่ที่ขาดแคลนครูจำนวน10,000 อัตรา คาดว่าจะเริ่มจ้างได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559

ที่มา : สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button