ข่าวการศึกษา

แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ – พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่องนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ : ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ในการอบรมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในโครงการสุทธิครุศิลป์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2559 ที่ห้องประชุมทวี บุญเกตุ ชั้น 6 อาคารสำนักอธิการบดี โดยมี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้บริหาร คณาจารย์ ตลอดจนครูจากโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐและเอกชน ที่เข้ารับการอบรม 120 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าโครงการสุทธิครุศิลป์ เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ อธิการบดีคนแรก เมื่อปี 2531 ซึ่งเป็นโครงการบริการทางวิชาการแก่บุคลากรในวงการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยกำหนดจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ด้านการเรียน การประเมินผล จิตวิทยาการศึกษา การใช้สื่อการสอนรูปแบบต่างๆ การบริหารสถานศึกษา ตลอดจนแนวทางการพัฒนาการศึกษาและการเสริมสร้างคุณธรรมแก่สังคมไทย โดยในครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” พร้อมมีการบรรยายให้ความรู้และแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการแก่ผู้เข้ารับการอบรม โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

– สาเหตุที่จะต้องมีนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : เนื่องจากในปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลาเรียนในห้องเรียนมากเกินไป ทำให้เกิดความเครียด และกระบวนการเรียนการสอนก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ ประกอบกับผลการจัดอันดับทางการศึกษานักเรียนไทยในระดับนานาชาติ ก็ยังอยู่ในอันดับที่ไม่น่าพึงพอใจ แต่ในขณะเดียวกันตลาดแรงงานก็มีความต้องการแรงงานทักษะใหม่ด้วย ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายที่จะลดเวลาเรียนในห้องเรียนเป็นเวลา 2 ชั่วโมง นักเรียนจะได้ร่วมทำกิจกรรม 4H (Head-Heart-Hand-Health) ตามความถนัดและสนใจของตัวเองได้ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เพื่อให้นักเรียนมีความสุข มีทักษะการคิดวิเคราะห์ในระดับที่สามารถนำไปใช้ได้ ครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อไป

– ผลการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่อง 3,831 แห่ง ในปี 2558-2559 : พบว่าคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (O-Net) ของโรงเรียนนำร่อง 3,831 โรงเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ มีระดับคะแนนเฉลี่ยของทุกวิชาในทุกโรงเรียนสูงขึ้น จึงอาจถือเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่านโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งมีการลดเวลาเรียนในห้องเรียนลงนั้น ไม่ได้ทำให้ความรู้ด้านวิชาการของเด็กหายไป และในระยะยาวเมื่อเด็กมีความสุขต่อเนื่อง ก็จะเกิดความรักโรงเรียน รักเรียน มีทักษะคิดวิเคราะห์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะช่วยเพิ่มคะแนน O-Net ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจยังพบว่าสถานศึกษามีความพร้อม 89.20%, นักเรียนมีความสุขตื่นตัว 97.13%, นักเรียนและครูร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข 95.52%, ชุมชน หน่วยงานอื่น เข้ามามีส่วนร่วม 47.78%, ผู้ปกครองชุมชนตื่นตัว 65.91% และสถานศึกษาจัดกิจกรรมครอบคลุม 4H (Head-Heart-Hand-Health) 100% ซึ่งในประเด็นนี้ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณารายละเอียดเชิงคุณภาพด้วยว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาตอบโจทย์หรือวัตถุประสงค์ตามนโยบายหรือไม่

– ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินโครงการ : ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
1) กิจกรรม ที่จะต้องมีการเน้นองค์ความรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ 3R (อ่านออก-เขียนได้-คิดเลขเป็น) และ 8C (การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, คิดอย่างสร้างสรรค์, ความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม, ความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ, ทักษะในการสื่อสาร, ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์, ทักษะทางอาชีพ และมีคุณธรรม)
2) ครู ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองในการเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน การทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกแทนการเป็นผู้สอน โดยจะต้องมีเทคนิคและจิตวิทยาในการสอน เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้กับเด็กๆ ในการทำกิจกรรมด้วย
3) การเรียนการสอนในกิจกรรม จะต้องมีแหล่งเรียนรู้ให้กับเด็ก มีสื่อในรูปแบบที่หลากหลาย ตลอดจนนำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนสะเต็มศึกษา (STEM) มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
4) นักเรียน จะต้องเน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง ซึ่งการฝึกปฏิบัติหรือการลงมือทำเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยสร้างทักษะการคิด การวางแผน การแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเด็กเอง

– แนวทางการดำเนินงานในปีการศึกษา 2559 : ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เตรียมการที่จะดำเนินงานในรุ่นที่ 2 ในหลายส่วนมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้จึงถือว่ามีความพร้อมเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่านโยบายนี้เป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องติดตามและเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หรือแบบกัดติดต่อไป เพื่อให้การดำเนินงานในรุ่นที่ 2 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button