ข่าวการศึกษา

รายงานพิเศษ “การันตีคุณภาพนมโรงเรียน”

กรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่า ผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพนมโรงเรียนทั้งนมพาสเจอร์ไรซ์ และนมยูเอชทีในช่วงปี 2555-2558 ที่ผ่านมา จำนวน 1,750 ตัวอย่าง พบนมโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานถึง 436 ตัวอย่าง คิดเป็น 24.9% เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ด้านโภชนาการจากเนื้อนมไม่รวมไขมันต่ำกว่ามาตรฐาน 290 ตัวอย่าง และไม่ผ่านด้านจุลชีววิทยา 95 ตัวอย่าง และยังมีจำนวนแบคทีเรียสูงกว่ามาตรฐานด้วย จากปัญหาดังกล่าว ได้สร้างความกังวลให้กับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด ซึ่งดูแลรับผิดชอบโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพราะเกรงว่าอาจทำให้สาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนและขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน โดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กนักเรียน รวมถึงคณะครูโรงเรียนต่างๆ ทาง อ.ส.ค.จึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริงถึงมาตรการควบคุมคุณภาพนมโรงเรียนทั้งระบบ พร้อมยืนยันว่า คุณภาพนมโรงเรียนไม่ตกมาตรฐานอย่างแน่นอน

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า การเสนอข่าวผลตรวจวิเคราะห์คุณภาพนมโรงเรียนปี 2555-2558 โดยใช้ข้อมูลที่มีปริมาณตัวอย่างเพียง 1,750 ตัวอย่าง ในระยะเวลา 4 ปี มาสรุปรายงานต่อสาธารณชนในปี 2559 อาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ปัจจุบันนมโรงเรียนไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 24.9% และทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครูขาดความมั่นใจต่อคุณภาพนมโรงเรียน ดังนั้น จึงควรรายงานข้อเท็จจริงในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปีนี้นมโรงเรียนบางส่วนก็มีปัญหาในกระบวนการบริหารจัดการ แต่มีเพียงเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุเกิดจากระบบขนส่งและการเก็บรักษาไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทางมิลค์บอร์ดได้สั่งการให้ผู้ประกอบการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว

ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo

ปี 2559 นี้ มิลค์บอร์ดได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพนมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนอย่างจริงจัง ตามนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เน้นย้ำและเอาใจใส่ในเรื่องนี้ และได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงานโครงการดังกล่าว เพื่อใช้บริหารจัดการและกำกับติดตามควบคุมให้เป็นไปตามนโยบาย ทั้งยังมีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลคุณภาพนมโรงเรียน ทำหน้าที่กำกับดูแลคุณภาพนมโรงเรียน และตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนร่วมกับการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันมิลค์บอร์ดยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ และพิจารณาอัตราเบี้ยปรับเพื่อควบคุมกำกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ให้ผลิตนมโรงเรียนให้ได้มาตรฐาน

นอกจากนั้น มิลค์บอร์ดยังขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันควบคุมและกำกับการบริหารโครงการ เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนที่มีคุณภาพดีอย่างทั่วถึง และมีความโปร่งใสเป็นธรรม และกระทรวงเกษตรฯยังได้ใช้กลไกการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ และกลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯแบบเบ็ดเสร็จ หรือซิงเกิ้ลคอมมานด์ (Single Command) ระดับจังหวัด เข้าทำหน้าที่เสริมการกำกับติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและควบคุมคุณภาพนมโรงเรียนตลอดห่วงโซ่อย่างสม่ำเสมอด้วย

โดยมิลค์บอร์ดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนอย่างใกล้ชิด หากตรวจพบว่า ผู้ประกอบการในโครงการผลิตนมโรงเรียนคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินของโครงการ มิลค์บอร์ดจะลดโควตาจำหน่ายหรือตัดสิทธิการจำหน่ายทันที

ขณะนี้มิลค์บอร์ดได้มีแผนเร่งพัฒนายกระดับคุณภาพนมโรงเรียนไปจนถึงสิ้นปี 2560 เพื่อให้มีเนื้อนมรวมปริมาณสูงขึ้นจาก 12.15% เป็น 12.50% และจำนวนเม็ดเลือดขาวในน้ำนมลดลง เพื่อส่งเสริมคุณค่าทางโภชนาการนมโรงเรียนให้มีคุณภาพมาตรฐาน นอกจากนั้น ยังได้เห็นชอบให้ประกาศใช้ “มาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ พ.ศ. 2559” โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป เพื่อใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาการรับซื้อน้ำนมดิบระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาพัฒนายกระดับน้ำนมดิบให้คุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูงขึ้น

มาตรฐานฉบับใหม่นี้ กำหนดราคาซื้อขายตามเกณฑ์คุณภาพองค์ประกอบน้ำนม เช่น ปริมาณไขมัน ปริมาณเนื้อนมไม่รวมมันเนย เชื้อจุลินทรีย์ และจำนวนเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ดังนั้น ผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมรองรับการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งมีโอกาสที่จะได้ราคาบวกเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1-2 บาท/กิโลกรัม หากน้ำนมดิบมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ที่กำหนด และถ้าคุณภาพต่ำก็จะถูกหักราคารับซื้อ สำหรับฟาร์มโคนมที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคนม (มกษ.6402) หรือมาตรฐานจีเอพี (GAP) จะได้ราคาบวกเพิ่มไม่น้อยกว่า 0.20 บาท/กิโลกรัม เป็นช่องทางที่จะทำให้เกษตรกร
มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : แนวหน้า

เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

Back to top button