ครม.อนุมัติงบประมาณจ้าง นักการภารโรง 13,751 อัตรา ๆ ละ 9,000 บาท 5 เดือน ให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2567
ครม.อนุมัติงบประมาณจ้าง นักการภารโรง 13,751 อัตรา ๆ ละ 9,000 บาท 5 เดือน ให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (9 เมษายน 2567) เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
ติดตามข่าวอื่น ๆ ได้ที่เพจ : https://www.facebook.com/rukkroo
1. เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แล้วแต่กรณี สำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 618.80 ล้านบาท แล้วแต่กรณี สำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรง1 ทั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการจ้างนักการภารโรงได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพฤษภาคม 2567 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติ (23 กันยายน 2546) เห็นชอบยุทธศาสตร์การปรับกำลังคนภาครัฐ โดยกำหนดให้ทุกส่วนราชการยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำที่ว่างลงจากอัตราเกษียณอายุและว่างลงระหว่างปีทุกตำแหน่ง โดยในส่วนของ ศธ. [สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)] อัตราส่วนใหญ่ที่ยุบเลิกเป็นตำแหน่งนักการภารโรงที่ สพฐ. ไม่ได้รับจัดสรรอัตราและงบประมาณจ้างทดแทน ส่งผลให้จำนวนนักการภารโรงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 และครูต้องปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การดูแลสถานที่และสภาพแวดล้อมของโรงเรียน รวมถึงการดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ ทำให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มกราคม 2567) ให้ ศธ. และส่วนราชการอื่น ๆ ที่มีสถานศึกษาในสังกัดได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 (เรื่อง การปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการ) ดังนั้น ศธ. จึงมีความจำเป็นต้องจ้างนักการภารโรงให้ครบทุกโรงเรียนเพื่อรักษาความปลอดภัย ดูแลโรงเรียนให้สะอาดและเอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และเพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งลดภาระและความเสี่ยงของครูและบุคลากรทางการศึกษา
2. ข้อมูลนักการภารโรงในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2567) สรุปได้ ดังนี้
รายการ | จำนวนโรงเรียน/นักการภารโรง (โรง/คน)* |
(1) โรงเรียนในสังกัด สพฐ.2 [ข้อมูลจากระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data management Center: DMC) ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566] | 28,936 |
(2) โรงเรียนที่มีนักการภารโรง/ผู้ปฏิบัติหน้าที่นักการภารโรง โดยสามารถจำแนกผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่นักการภารโรงได้ ดังนี้ (2.1) ลูกจ้างประจำที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนักการภารโรง จำนวน 4,384 อัตรา (2.2) พนักงานราชการ3 ปฏิบัติหน้าที่นักการภารโรง จำนวน 52 อัตรา (2.3) นักการภารโรง (จ้างเหมาบริการอัตรา 9,000 บาทต่อเดือน) จำนวน 10,749 อัตรา | 15,185** |
(3) โรงเรียนที่ขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งนักการภารโรง | 13,751 |
หมายเหตุ : *จำนวนโรงเรียนเท่ากับจำนวนนักการภารโรง (1 โรงเรียนมีนักการภารโรง 1 คน)
**ลูกจ้างประจำและพนักงานราชการเป็นการใช้งบประมาณจากบุคลากร และลูกจ้างจ้างเหมาบริการเป็นการใช้งบประมาณจากงบรายจ่ายอื่นของ ศธ. ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
3. ศธ. ได้มีหนังสือถึงสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับจ้างเหมาบริการนักการภารโรง จำนวน 14,210 อัตรา ระยะเวลา 5 เดือนเพื่อปฏิบัติงานในเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2567 รวมวงเงินทั้งสิ้น 639.45 ล้านบาท (ใช้ข้อมูลนักการภารโรงที่ขาดแคลน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในการขอรับจัดสรรงบประมาณ) ซึ่ง สงป. แจ้งว่านายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ ศธ. โดย สพฐ. ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบประมาณรายจ่ายประจำปีบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างเหมาบริการนักการภารโรง จำนวน 13,751 อัตรา (ตามจำนวนโรงเรียนที่ขาดแคลนนักการภารโรง ณ เดือนมีนาคม 2567) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2567 รวมระชะเวลา 5 เดือน จำนวน 618.80 ล้านบาท (13,751 อัตรา x 9,000 บาทต่อเดือน x 5 เดือน) โดยเบิกจ่ายจากงบรายจ่ายอื่น และให้ สพฐ. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อทำความตกลงกับ สงป. ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากวงเงินดังกล่าวมีจำนวนเกิน 100 ล้านบาท ศธ. โดย สพฐ. จึงต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ข้อ 9 (3)
4. ประโยชน์และผลกระทบ เช่น
4.1 ครูสามารถทำหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา
4.2 มีนักการภารโรงดูแลสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภคทรัพย์สินของทางราชการ และความปลอดภัยของครูและนักเรียน
___________________
1 การจ้างนักการภารโรงในรูปแบบการจ้างเหมาบริการ เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้งานบริการหมายความว่า งานจ้างเหมาบริการ และมาตรา 56 (2) (ข) บัญญัติให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่ให้บริการทั่วไปและมีวงเงินจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น กฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลง เป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560
2 โรงเรียนที่อยู่ระหว่างรอควบรวม/รอยุบเลิก/ถ่ายโอน จะไม่นำมาคำนวณในครั้งนี้ (ประมาณ 315 โรงเรียน)
3 พนักงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่นักการภารโรง เป็นตำแหน่งที่ได้รับการจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี (5 ตุลาคม 2547) เรื่อง การช่วยเหลือลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวในระบบราชการ ซึ่งให้ลูกจ้างชั่วคราวประเภทที่ 1 (ใช้งบประมาณหมวดค่าตอบแทนบุคลากร) ที่ปฏิบัติงานต่อเนื่องและทำงานในลักษณะประจำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้ผู้บังคับบัญชาเจ้าสังกัดบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานราชการ
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย